
สุสานหุมายูน ต้นแบบทัชมาฮาล
มาดูต้นแบบของทัชมาฮาล ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งซึ่งหากเดินทางไปอินเดียแล้วไม่ควรพลาด
หลุมฝังพระบรมศพของจักรพรรดิหุมายูง (อังกฤษ: Humayun’s Tomb; อูรดู: ہمایوں کا مقبرہ, Humayun ka Maqbara)
องค์การยูเนสโกประกาศให้สถานที่แห่งนี้เป็นมรดกโลกตั้งแต่ปี 2536 ค่าผ่านประตูก็แค่ 10 รูปีสำหรับคนไทยและสมาชิกประเทศบิมสเทค
สุสานหุมายูนเป็นสิ่งก่อสร้างที่ใช้หินทรายแดงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพของพระเจ้าหุมายูน ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่สองของราชวงศ์โมกุล สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1565 (พ.ศ. 2108 ตรงกับช่วงก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก) โดยสถาปนิกชาวเปอร์เชียชื่อ มิรัค มีร์ซา กิยาส และอำนวยการสร้างโดยพระนางหะมิดะ ภาณุ เบกุม มเหสีองค์หนึ่งของพระองค์ (คนละคนกับหะยี เบกุม ซึ่งเป็นมเหสีองค์แรก) ใช้เวลาก่อสร้างรวม 7 ปี นับเป็นสุสานที่มีสวนอยู่ด้วยแห่งแรก
ในอนุทวีปกันเลย

นอกเหนือจากหลุมฝังศพของพระเจ้าหุมายูนแล้วยังมีหลุมฝังศพของมเหสีทั้งหลายของพระองค์ รวมทั้งพระนางเบกุมเองอยู่ภายในสุสานนี้ด้วย แถมยังมีหลุมฝังของช่างตัดผมคนโปรดของพระองค์อยู่ในบริเวณสุสานเช่นกัน สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ลี้ภัยของ พหธุร์ ชาห์ ซะฟาร์ จักรพรรดิโมกุลองค์สุดท้ายในช่วงกบฏอินเดีย (Indian Rebellion 1857) เมื่อ ค.ศ. 1857 (สมัยรัชกาลที่ 4) ก่อนที่จะถูกทหารอังกฤษจับกุมตัวและส่งไปกักขังที่กรุงย่างกุ้งในเวลาต่อมา
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1556 พระเจ้าหุมายูนเดินขึ้นไปบนหอสมุดซึ่งเป็นหอสูงไว้สำหรับดูดาวด้วยในป้อมบูรณขีล (Purana Quila แปลว่าป้อมเก่าหรือ Old Fort) เพื่อขึ้นไปสวดมนต์ตามปกติ พอสวดเสร็จ ขาลงทรงตกบันไดลงมาถึงแก่ชีวิต ภายหลังสวรรคต พระศพยังคงถูกฝังไว้ในพื้นที่ป้อมบูรณขีล ก่อนที่จะย้ายไปไว้ที่สุสานแห่งนี้เมื่อสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1572
ความโดดเด่นของสุสานหุมายูนอยู่ที่การออกแบบโดยคุณมิรัค มีร์ซา กิยาส สถาปนิกเชื้อสายเปอร์เซีย ซึ่งถูกว่าจ้างมาจากเมืองเหรัต (Herat) ในอัฟกานิสถานและเคยออกแบบสิ่งก่อสร้างหลายแห่งในดินแดนบุคารา (Bukhara) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอุซเบกิสถานในปัจจุบัน คุณกิยาสใช้จินตนาการว่าบนสรวงสวรรค์ควรจะเป็นดินแดนร่มรื่น จึงได้สร้างสวนขึ้นภายในสุสาน นัยว่าผู้ตายจะได้อยู่ในสถานที่น่ารื่นรมดั่งอยู่บนสวรรค์นั่นเอง แต่คุณกิยาสก็ชิงไปอยู่สวรรค์เสียก่อนที่จะออกแบบเสร็จ คุณไซยิด มูฮัมหมัด ลูกชายของท่านรับช่วงออกแบบต่อจนเสร็จสมบูรณ์
สวนที่คุณกียาสออกแบบไว้ ภาษาฮินดีเรียกว่า จาร์บาค (Charbagh) หรือจตุรภาค นั่นคือสวนที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยแบ่งภายในเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายอันอยู่ภายในสี่เหลี่ยมใหญ่ หรือจะว่ากันง่ายๆ คือ สี่เหลี่ยมจัตุรัสหลายอันมาต่อกันเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสใหญ่
ด้วยความงดงามและยิ่งใหญ่ด้วยศิลปะผสมแบบโมกุลกับอิสลาม พระเจ้าชาห์ จาฮัน จึงได้แรงบันดาลใจจากสุสานแห่งนี้ไปสร้างใหม่ใหญ่กว่าเก่าที่เมืองอัครา เพื่อเป็นสุสานสำหรับพระนางมุมตัส มเหสีสุดที่รัก ใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี คือ ทัชมาฮาล อันยิ่งใหญ่นั่นเอง

หลังก่อสร้างเสร็จแล้ว 40 ปี มีพ่อค้าวาณิชย์ชาวอังกฤษชื่อ คุณวิลเลียม ฟินช์ มีโอกาสเข้าชมสุสานหุมายูน ได้สาธยายความงดงามการตกแต่งภายในของท้องพระโรงกลางไว้ว่างดงามมาก มีพรมประดับมากมาย มีกระโจมเล็กและผ้าขาวสะอาดคลุมจุดที่ฝังพระศพ มีคัมภีร์กุรอาน ดาบ ผ้าโพกพระเศียร และรองพระบาท ตั้งอยู่ด้วย ปัจจุบันสิ่งของเหล่านี้ไม่อยู่ตรงนี้แล้ว สถานที่ก็อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างจะทรุดโทรม และอยู่ระหว่างการบูรณะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในปีที่พระเจ้าหุมายูนสวรรคต พระเจ้าอัคบาร์ พระโอรสของพระองค์ได้ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองอัครา ส่งผลให้สุสานหุมายูนขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดี เริ่มมีสภาพทรุดโทรม แถมชาวบ้านยังเข้าไปอาศัยอยู่แล้วปลูกผักทำไร่ใบยาสูบในนั้นด้วย
เมื่ออังกฤษเข้าครอบครองเดลีอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด มีการบูรณะสถานที่แห่งนี้ แต่มีคนอุตริไอเดียบรรเจิดพวกคิดว่าข้าเก่งที่สุดแล้วในสามโลก ดัดแปลงสวนเป็นแบบอังกฤษ แต่เมื่อความทราบถึงหูลอร์ดเคอร์สัน (Lord Curzon) ผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดียเมื่อ ค.ศ. 1903 (รัชกาลที่ 5) ท่านลอร์ดถึงกับออกคำสั่งประมาณว่า ของเก่าเค้าดีอยู่แล้ว อย่าไปรื้อสิ
ชะตากรรมอันโหดร้ายของสุสานแห่งนี้ยังไม่หมด มนุษย์ทะเลาะกันดันเดือดร้อนสถานที่ด้วย เมื่อปี 2490 คราวอินเดียและปากีสถานตั้งเป็นประเทศ รัฐบาลอินเดียได้ใช้พื้นที่บริเวณป้อมบูรณขีลและสุสานหุมายูนเป็นค่ายที่พักสำหรับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมที่จะต้องย้ายไปอยู่ดินแดนปากีสถาน กว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการโยกย้ายก็ปาเข้าไปร่วม 5 ปี พื้นที่ภายในสุสานและสวนอันงดงามเสียหายมากมาย กรมสำรวจโบราณคดีได้เข้าฟื้นฟูสถานที่ในเวลาต่อมา
ในปี 2536 มีการบูรณะฟื้นฟูอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สุสานหุมายูนได้รับสถานะมรดกโลก ทำให้หน่วยงานต่างๆ หันมาสนใจการบูรณะสถานที่มากขึ้น และใช้เวลาถึง 10 ปี จึงได้เป็นสภาพที่เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็ยังคงปรับปรุงหลายพื้นที่
