วัดไทยพุทธคยา เป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 มีเนื้อที่ราว 12 ไร่ (5 เอเคอร์) ตั้งอยู่บริเวณพุทธคยา อยู่ห่างจากองค์เจดีย์พุทธคยาประมาณ 500 เมตร เป็นวัดที่อยู่ในความดูแลและอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย ปัจจุบันมีพระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ) เป็นเจ้าอาวาส
พระอุโบสถของวัดไทยพุทธคยาจำลองแบบมาจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมของสมัยรัตนโกสินทร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งการจำลองแบบจนดูเหมือนนี้ไม่ใช่เฉพาะภายนอก แต่ยังมีภายในที่เหมือนกันด้วย เช่น องค์พระประธานที่เป็นพระพุทธชินราช แกลประตู แกลหน้าต่าง เป็นต้น

ประเทศอินเดีย ได้รับได้เอกราชจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2490 และต่อมา ฯพณฯ ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีอินเดียคนแรก ได้เตรียมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น หรือเรียกว่า พุทธชยันตี ใน พ.ศ. 2500 จึงได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้มาสร้างวัดด้วยศิลปะของตน ณ พุทธคยา ดินแดนตรัสรู้ของพระโคตมพุทธเจ้า โดยรัฐบาลอินเดียได้จัดสรรที่ดินให้เช่าในนามรัฐบาลต่อรัฐบาลคราวละ 99 ปี และเมื่อหมดสัญญาแล้วสามารถต่ออายุสัญญาได้อีกคราวละ 50 ปี
ประวัติเริ่มการสร้างวัดไทยพุทธคยา
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 นายปุ่น จงประเสริฐ เลขานุการสถานเอกอัครทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้เดินทางมาพบกับพระนักศึกษาไทยที่ศึกษา ณ สถาบันการศึกษาบาลีนวนาลันทา ซึ่งมีจำนวน 4 รูป คือ พระมหานคร เขมปาลี (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระราชรัตนโมลี อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) พระมหามนัส จิตตทะโม พระมหาโอภาส โอภาโส และพระมหาชวินทร์ สระคำ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระอุดรคณาธิการ ภายหลังลาสิกขาได้รับเลือกเป็น ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด) และได้แจ้งข่าวว่า พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีจิตศรัทธาส่งเงินจำนวน 200,000 รูปี (ในสมัยนั้นอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 รูปีอินเดียแลกได้ 4 บาทไทย) มายังสถานทูตไทย เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทยในอินเดีย ตามที่รัฐบาลอินเดียเชิญชวน แต่ในตอนนั้น เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุง นิวเดลลี คือ พระพหิทธานุกร ได้มอบให้เลขานุการสถานทูตเป็นผู้ดำเนินการสร้างแทน จึงมาปรึกษาพระสงฆ์ไทย ที่เรียนอยู่ที่นาลันทา และตกลงกันว่า จะซื้อที่ดินที่พุทธคยา และมอบให้นายปุ่น จงประเสริฐ เป็นผู้ดำเนินการซื้อที่ดินจากรัฐบาลรัฐพิหาร
ซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด เริ่มแรกติดต่อได้ที่ดินใกล้วัดทิเบตทางทิศเหนือ มีเนื้อที่ 15 เอเคอร์ ประมาณ 37 ไร่ (ปัจจุบันคือลานแสดงธรรมของท่านดาไล ลามะ หรือชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่า กาลจักระ ไมดาน (ไมดาน แปลว่า สนาม กาลจักร คือ พิธีการบูชาที่ยิ่งใหญ่ของทิเบต) ต่อมาทางการเห็นว่า การก่อสร้างโบสถ์และวิหารอื่นๆ อาจจะบดบังทัศนียภาพขององค์พระเจดีย์พุทธคยา และเมื่อขุดเพื่อวางเสาเข็ม ได้พบโบราณสถานมากมาย ทางการรัฐพิหาร จึงหาที่ให้ใหม่ คือบริเวณทีตั้งปัจจุบันนี้

รัฐบาลไทยเข้ามาดูแลเรื่องสร้างวัดต่อมามีเหตุการณ์ผันแปรในการสร้างวัด จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้รับเรื่องการสร้างวัดเป็นของรัฐบาล ต่อมาท่านทูต คนใหม่ คือ ดร. บุณย์ เจริญชัย มาอยู่ทิ่อินเดีย การก่อสร้างวัดไทยในขั้นต้น จึงเสร็จเรียบร้อย คือ มีพระอุโบสถ ศิลปะรัตนโกสินทร์ แบบวัดเบญจมบพิตร และกุฏิที่พักสงฆ์ จำนวน 2 หลัง
ที่ตั้งและอาณาเขตของวัดไทย
วัดไทยพุทธคยา ตั้งอยู่ห่างจากบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมาณ 500 เมตร ตำบลพุทธคยา อ.คยา รัฐพิหาร ห่างจากสถานีรถไฟคยา ประมาณ 15 กิโลเมตร และสนามบินพุทธคยา ประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ (5 เอเคอร์) อยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย มีฐานะเป็นพระอารามหลวง เพราะได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินเป็นประจำทุกปี

พระธรรมทูตไทย ชุดแรก ณ วัดไทยพุทธคยา
พ.ศ. 2502 ทางรัฐบาลได้แจ้งให้คณะสงฆ์ทราบ และคณะสงฆ์ได้ส่งพระธรรมธีราชมหามุนี มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก พร้อมกับพระสงฆ์อีกสี่รูป ปฏิบัติหน้าที่อยู่สามปี จนถึง พ.ศ. 2505 จึงเดินทางกลับประเทศไทย นับเป็นพระสงฆ์สมณทูตชุดแรกของไทยที่เดินทางมาประกาศพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนต้นกำเนิด ภายหลังที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งท่านพระโสณะ และพระอุตระไปที่สุวรรณภูมิ เมือ พ.ศ. 236 ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันถึง 2,266 ปี